"เทศกาลคะนะสะวะ เฮียกุมังโกกุ" จัดขึ้นปีละครั้งเพื่อรำลึกถึงโอกาสที่ท่านมะเอดะ โทชิอิเอะ ผู้ก่อตั้งแคว้นคะงะเริ่มเข้าพำนักที่ปราสาทคะนะสะวะในวันที่ 14 มิถุนายน และเป็นผู้วางรากฐานให้กับเมืองคะนะสะวะอันยิ่งใหญ่ ขบวนพาเหรดเฮียกุมังโกกุซึ่งถือเป็นกิจกรรมหลักของงานจะจำลองขบวนนำเข้าปราสาทของท่านมะเอดะ โทชิอิเอะ และการแสดงหลากหลายรูปแบบโดยเคลื่อนที่จากบริเวณหน้าสถานีคะนะสะวะ ไปถึงสวนปราสาทคะนะสะวะ สองฝากถนนจะคราคร่ำไปด้วยชาวบ้านท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวที่ตั้งหน้าตั้งตารอชมขบวนพาเหรด
นอกจากนี้ ช่วงกลางคืน ผู้คนประมาณ 1 หมื่นคนจะมาร่วมเต้นรำเต็มท้องถนน เรียกว่า "เฮียกุมังโกกุ โอโดรินะกะชิ" และมีการจัดพิธีชงชาแบบโบราณ "เฮียกุมังโกกุฉะไค" บริเวณสวนเค็นโรคุเอ็น ส่วนในช่วงคืนวันศุกร์ จะมีพิธี "ลอยโคมคะงะยูเซ็น" ซึ่งสร้างทัศนียภาพที่งดงามให้กับแม่น้ำอะซะโนะ เทศกาลและกิจกรรมทั้งหมดนี้จัดต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 วัน
ช่วงเวลา 14.00 น.ของวันเสาร์จะมีพิธีเปิดขบวนพาเหรด "เฮียกุมังโกกุ" ซึ่งถือเป็นกิจกรรมหลักของเทศกาลบริเวณหน้าสถานีคะนะสะวะ พร้อมการแสดงแบบดั้งเดิมหลากหลายรายการโดยมีฉากหลังเป็นสถาปัตยกรมที่โดดเด่น ประตูขนาดมหึหาและสถาปัตยกรรมทรงโดมด้านหน้าสถานีคะนะสะวะได้รับเสียงชื่นชมในระดับโลกเรื่องเอกลักษณ์ที่ไม่ซ้ำใคร ขบวนแห่ดังกล่าวจะเริ่มออกเดินทางสู่ปราสาทคะนะสะวะ และโปรดเข้าชมด้วยความระมัดระวังเนื่องจากมีผู้คนหนาแน่นบริเวณริมทางเดิน
ผู้เข้าร่วมขบวนพาเหรด "เฮียกุมังโกกุ" จะสวมใส่เสื้อผ้าที่งดงามหรูหรา ไม่ว่าจะเป็นผู้รับบทท่านมะเอดะ โทชิอิเอะ ผู้รับบทภรรยาของท่าน (นักแสดงมืออาชีพจะเป็นผู้รับหน้าที่นี้ทุกปี) รวมถึงเหล่าขุนนางอีกหลากหลายตำแหน่งในยุคเอโดะซึ่งเป็นยุครุ่งเรืองของคะนะสะวะ เพียงแค่ได้เห็นเครื่องแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์และการแสดงแบบโบราณ คุณก็จะรู้สึกเหมือนได้ย้อนเวลากลับไปในยุคนั้น
ขบวนพาเหรดจะสิ้นสุดบริเวณปราสาทคะนะสะวะ ช่วงนี้จะมีการแสดงมากมายเพื่อรำลึกถึงพิธีการย้ายเข้าปราสาทของท่านมะเอดะ โทชิอิเอะ เช่น การแสดง "คะงะโทบิ" (การแสดงโบราณสมัยเอโดะโดยกลุ่มดับเพลิงที่สาธิตการดับไฟบนบันไดสูง) บรรยากาศอลังการและน่าประทับใจราวกับได้ย้อนไปสู่การต้อนรับผู้ครองปราสาทในยุคอันรุ่งเรือง
ค่ำคืนวันเสาร์หลังสิ้นสุดขบวนเฮียกุมังโกกุซึ่งถือเป็นพิธีหลัก งานเทศกาลยังไม่เลิกราง่ายๆ ช่วงเวลา 18.00-20.00 น. จะมีทีมจากบริษัทหรือกลุ่มต่างๆเกือบ 100 ทีมมาร่วมเต้นเต็มท้องถนนอย่างครึกครื้นในชุดยูกะตะ เรียกว่า ""เฮียกุมังโกกุ โอโดรินะกะชิ"" ในช่วงนี้มีผู้เข้าร่วมประมาณ 10,000 คน! ยิ่งรวมกับผู้ชมริมถนนก็เป็นหลักแสน อย่าพลาดชมค่ำคืนของคะนะสะวะที่แสนร่าเริงเช่นนี้
ในช่วงเวลา 8.30 - 16.00 น.ของวันเสาร์และวันอาทิตย์ (รับจองถึง 15.00 น.) บริเวณเรือนไม้จิกุเรเท ด้านในสวนเค็นโรคุเอ็น สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังของคะนะสะวะ จะมีการจัดพิธีชงชาแบบดั้งเดิมที่เรียกว่า "เฮียกุมังโกกุฉะไค" ในช่วงยุคเซ็นโคคุ (ยุคสงคราม) สืบเนื่องมาถึงยุคเอโดะ พิธีชงชาได้รับความนิยมและเผยแพร่เป็นวงกว้างจากชนชั้นนักรบสู่สามัญชน มาลองสัมผัสพิธีอันสง่างามซึ่งเฟื่องฟูในคะนะสะวะและได้รับการสืบทอดมาถึงปัจจุบันด้วยตัวคุณเอง
ค่าใช้จ่าย : 1,500 เยนต่อที่นั่ง *ในกรณีที่พื้นที่เต็ม จะไม่สามารถจองเพิ่มได้
ในวันศุกร์ซึ่งเป็นวันแรกของเทศกาลตั้งแต่เวลา 19.00-21.00 น. (อาจเลื่อนเวลาออกไปในกรณีที่ฝนตก) บริเวณ "สะพานเท็นจิน" จนถึงสะพาน "อะซะโนะกะวะ" บนแม่น้ำอะซะโนะที่ไหลผ่านกลางเมืองจะจัดพิธี "ลอยโคมคะงะยูเซ็น" ด้วยความปรารถนาและอธิษฐานให้ศาสตร์คะงะยูเซ็น (ทักษะศิลปะดั้งเดิมของคะนะสะวะ) ซึ่งได้รับคำนิยามว่าเป็น "ศิลปะแห่งสายน้ำ" รุ่งเรืองและได้รับการสืบทอดอย่างต่อเนื่อง โคมลอยประมาณ 1,200 ชิ้นซึ่งสร้างสรรค์โดยช่างฝีมือคะงะยูเซ็นจะแต่งแต้มสีสันให้แม่น้ำอะซะโนะ เกิดเป็นภาพที่สวยงามเหมือนโลกแห่งความฝัน มาร่วมดื่มด่ำกับบทกลอนแห่งฤดูกาลช่วงต้นฤดูร้อนของคะนะสะวะกันเถอะ
Picture provided by Kanazawa City
กรุณาชมขบวนพาเหรดทางสองฝั่งถนน ห้ามล้ำเข้าไปในพื้นที่ถนนเด็ดขาด
การเดินทางสู่อำเภอคะนะสะวะ
(สถานีที่ใกล้ที่สุด)
สถานี JR คะนะสะวะ (โฮคุริคุชินคันเซ็น หรือ สายโฮคุริคุหลัก)
พื้นที่จัดงาน
สถานี JR คะนะสะวะ
2 คิโนะชินโบมะจิ อำเภอคะนะสะวะ จังหวัดอิชิกะวะ
*ขบวนพาเหรดเฮียกุมังโกกุจะเริ่มเดินจากหน้าสถานีคะนะสะวะ
สวนปราสาทคะนะสะวะ
1-1 มะรุโนะอุจิ อำเภอคะนะสะวะ จังหวัดอิชิกะวะ
สวนเค็นโรคุเอ็น
1 เค็นโรคุมะจิ อำเภอคะนะสะวะ จังหวัดอิชิกะวะ
*ปราสาทคะนะสะวะเชื่อมต่อกับสวนเค็นโรคุเอ็น
รถบัส
ขึ้นรถบัสสาย (6) หรือ (7) บริเวณด้านหน้าสถานีคะนะสะวะ ทางออกฝั่งเค็นโรคุเอ็น (ทางออกทิศตะวันออก) และลงที่ป้าย ""เค็นโรคุเอ็นชิตะ - คะนะสะวะโจ""
สะพานอะซะโนะกะวะ
รถบัส
ขึ้นรถบัสสาย (7) บริเวณด้านหน้าสถานีคะนะสะวะ ทางออกฝั่งเค็นโรคุเอ็น (ทางออกทิศตะวันออก) และลงที่ป้าย ""อะซะโนะกะวะโอฮะชิ"" หรือ ""ฮะชิบะโจ""