【มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม】เทศกาลเก่าแก่กว่า 200 ปีที่สืบทอดมาในชุมชน ซุ้มแห่ขนาดใหญ่ 4 หลังซึ่งประกอบด้วย 2 หลังจากศาลเจ้าโทบิฮะตะฮะจิมังกู (ฮิกะชิโอยะมะกะสะ, นิชิโอยะมะกะสะ), 1 หลังจากศาลเจ้าสุกะวะระ (เทนไรจิโอยะมะกะสะ) และอีก 1 หลังจากศาลเจ้านะกะฮะระฮะจิมังกู (นะกะฮะระโอยะมะกะสะ) จะรวมตัวกันสักการะแด่เทศกาลกิออน ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมเชิงคติชนวิทยาประเภทจับต้องไม่ได้แห่งชาติ และถือเป็น 1 ใน 3 เทศกาลยิ่งใหญ่ประจำจังหวัดฟุกุโอกะ มีอีกชื่อว่า "เทศกาลโคมไฟ"
ในยุคเอโดะ พื้นที่แถบนี้ประสบปัญหาโรคระบาด ชาวบ้านจึงอธิษฐานแด่เทพสุกะให้ช่วยปัดเป่าโรคร้าย เมื่อคำอธิษฐานเป็นจริง จึงสร้างซุ้มยะมะกะสะขึ้นถวาย
ซุ้มยะมะกะสะประดับธงในช่วงกลางวันจะกลายเป็นซุ้มโคมไฟในช่วงกลางคืน ถือเป็นเทศกาลที่ให้ภาพแตกต่างกันสองช่วงเวลา หาชมได้ยากในประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้ ซุ้มโคมไฟรูปแบบดังกล่าวยังมีขนาดใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นด้วย
ลูกหาบประมาณ 80 คนจะเปล่งเสียง "โยอิโทสะ โยอิโทสะ" ไปพร้อมกับเสียงบรรเลงของฆ้องและกลองไทโกะจากวงดนตรีฮะยะชิอย่างครึกครื้น
เทศกาลจัดขึ้นในหลายพื้นที่ของตำบลโทบะตะทุกเดือนกรกฎาคม มีผู้ร่วมงานจากทั่วประเทศประมาณ 2 แสนคน
จังหวะที่เทศกาลครึกครื้นมากที่สุดอยู่ที่ "พิธีประชันซุ้มโทบะตะ กิออน โอยะมะกะสะ" ซึ่งจัดขึ้นในช่วงเย็นของวันกลางเทศกาลด้านหน้าเทศบาลตำบลโทบะตะ ซุ้มยะมะกะสะขนาดใหญ่ 4 หลังจะมารวมตัวกับซุ้มยะมะกะสะขนาดย่อมอีก 4 หลังซึ่งแบกโดยนักเรียนมัธยมต้นของชุมชน จุดเด่นไม่ได้อยู่ที่ซุ้มขนาดใหญ่เท่านั้น แต่ซุ้มขนาดเล็กของเด็กมัธยมต้นก็ดึงดูดใจไม่น้อย ไฮไลท์อยู่ที่จังหวะแซงหน้าอย่างสง่างามและการบังคับซุ้มโคมไฟอย่างอิสระ
อย่าพลาดชมจังหวะ "โกะดันอะเกะ" หรือการเปลี่ยนซุ้มประดับธง 8 หลังให้เป็นซุ้มโคมไฟ
ทีมงานจะปลดเครื่องประดับของซุ้มช่วงกลางวันออกทั้งหมด และจะประดับประดาโคมไฟ 12 ชั้น 309 ชิ้นบนซุ้มปิรามิดสูงประมาณ 10 เมตร หนัก 2.5 ตัน ใช้เวลาไม่ถึง 3 นาทีในการแปลงโฉมดังกล่าว เมื่อเสร็จเรียบร้อย ผู้เข้าชมต่างเปล่งเสียงร้องและปรบมือให้อย่างยิ่งใหญ่
จับตาชมความรวดเร็วในการซ้อนโคมไฟอย่างแม่นยำจากทีมเวิร์คที่แข็งแกร่ง
หลังพิธี "โกะดันอะเกะ" จะมีการแห่ซุ้มยะมะกะสะที่ประดับโคมไฟตอนกลางคืน และกลายมาเป็นฉายาของเทศกาลว่า "ภูเขาโคมไฟ"
โดยปกติ แสงจากโคมไฟจะส่องสว่างด้วยแสงสลัว แต่เมื่อซ้อนทับกันกว่า 300 ชิ้น จะดูราวกับเปลวไฟขนาดมหึมา และอย่าพลาดชมซุ้มยะมะกะสะซึ่งประดับประดาโคมไฟอย่างตระการตา เพื่อสัมผัสบรรยากาศที่เป็นเอกลักษณ์ของเทศกาลนี้
ห้ามถ่ายภาพด้วยกล้องโดรน
ห้ามจองพื้นที่ด้วยผ้าปูหรือเก้าอี้
กรุณาปฎิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่เรื่องการข้ามถนน
เพื่อความปลอดภัย อย่าเข้าใกล้ระหว่างแห่ขบวน เปลี่ยนอุปกรณ์ หรือปลดซุ้มยะมะกะสะ
การเดินทางสู่อำเภอโทบะตะ
(สถานีที่ใกล้ที่สุด)
สถานีโทบะตะ รถไฟ JR สายหลักคะโกชิมะ
พื้นที่จัดงาน
พิธีประชันซุ้มโอยะมะกะสะ
ที่อยู่ : 1-1 เซ็นโบ โทบะตะ อำเภอคิตะคิวชู จังหวัดฟุกุโอกะ (ด้านหน้าเทศบาลตำบลโทบะตะ)
เดินจากสถานีโทบะตะ 10 นาที