โครงไม้ไผ่สำหรับแขวนโคมไฟในงานมีความสูงถึง 20 เมตร แต่ละทีมจะพุ่งชนโคมไฟของอีกฝ่ายอย่างรุนแรงและคลุ้มคลั่ง "เทศกาลโคกะโจจิน ซะโอโมมิ" คือการแข่งขันดับโคมไฟของฝ่ายตรงข้าม โครงไม้ไผ่ของแต่ละทีมตั้งตระหง่านได้ด้วยแรงของชายหนุ่ม 21 คน แต่ละทีมจะแข่งขันกันในพื้นที่รั้วไม้ไผ่ หากโคมไฟพังทลายหรือลำไม้ไผ่หักก็ถือว่าทีมนั้นแพ้เช่นกัน จังหวะเข้าตะลุมบอนของชายฉกรรจ์ท่ามกลางประกายไฟปลิวว่อนทำให้เกิดภาพที่งดงาม
เทศกาลนี้เริ่มต้นมาจากพิธี "ชิจิโกเมกุริ" ของศาลเจ้าโนกิ พิธี "ชิจิโกเมกุริ" คือการสักการะศาลเจ้าใน 7 หมู่บ้านที่มีความเกี่ยวข้องกับศาลเจ้าโนกิโดยให้เทพเจ้าแวะพักหมู่บ้านละ 1 คืน เมื่อสักการะครบทั้ง 7 แห่งเรียบร้อย ผู้สักการะจำนวนมากจะมารวมตัวเพื่อต้อนรับเทพเจ้ากลับคืน เชื่อกันว่าเหล่าผู้สักการะต่างถือโคมไฟเพื่อปกป้องร่างกายจากอากาศหนาวเหน็บและเริ่มเข้าตะลุมบอนเพื่อสร้างความอบอุ่น พิธีกรรมดังกล่าวได้รับการสืบสานมากว่า 150 ปีจนกลายเป็นสัญลักษณ์ประจำฤดูหนาวของท้องถิ่น
แต่ละกลุ่มจะรวบรวมสมาชิก 21 คนเพื่อเข้าแข่งขันและคัดเลือกให้เหลือ 8 ทีมในรอบแรก จากนั้นจึงเข้าร่วมรอบชิงชนะเลิศโดยเริ่มตั้งแต่เวลา 19.30 น.ของทุกปี ช่วงนี้ถือเป็นไฮไลท์ที่คึกคักที่สุดของเทศกาล นอกจากนี้ ยังมีช่วงตะลุมบอนอย่างอิสระ และการแข่งขันของเด็ก ๆ ซึ่งพยายามชนโครงไม้ไผ่ที่สูงประมาณ 10 เมตรด้วย มีประกายไฟฟุ้งกระจายสลับกับเสียงก้านไม้ไผ่แตกหัก สมกับที่ได้รับสมญานามว่าเป็นเทศกาลแปลก
เมื่อเทศกาลเริ่มต้นขึ้น แต่ละทีมจะนำแท่นโคมไฟของตัวเองมาเรียงกัน แม้จะมีข้อกำหนดเรื่องความสูงของเสา รูปทรงโคมไฟ และลักษณะการตกแต่งเป็นพื้นฐาน แต่ซุ้มโคมไฟแต่ละชิ้นก็มีเอกลักษณ์และความคิดสร้างสรรค์ที่ไม่เหมือนกัน ทุกคนต่างมุ่งมั่นเพื่อชัยชนะ ปกป้องไม่ให้โครงไม้ไผ่ของตัวเองแตกหัก ไม่ให้ไฟดับ ทุ่มเทสร้างงานหัตถกรรมอย่างงดงาม ไม่เพียงแค่จังหวะการพุ่งเข้าชนเท่านั้น แต่แนะนำให้มาชมลักษณะโครงไม้ไผ่ของแต่ละทีมอย่างละเอียดก่อนเริ่มงาน
ระวังโครงไม้ไผ่หักตกลงมาโดนศีรษะในขณะเข้าปะทะกัน
(สถานีที่ใกล้ที่สุด)
รถไฟ JR สายอุสึโนมิยะ, สายอุเอโนะโตเกียว, สายโชนันชินจุกุ : สถานีโคกะ
(ป้ายรถบัสที่ใกล้ที่สุด)
รถบัสอะซะฮิ : ป้ายหน้าอะซะฮิแท็กซี่
พื้นที่จัดงาน
พื้นที่จัดงานบริเวณสถานีโคกะ ทางออกทิศตะวันตก
เดินจากทางออกทิศตะวันตก สถานีโคกะ 1 นาที
เดินจากป้ายรถบัสหน้าอะซะฮิแท็กซี่ 1 นาที